สรุป PANEL DISCUSSION #5

สมรรถนะที่สำคัญสำหรับอนาคต

ดำเนินรายการ โดย ดร.นัฏฐพร รุจิขจร

ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

ผู้อำนวยการ สสวท.

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต

รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ผศ. ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สรุปการบรรยาย

“เป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน คือ ผู้เรียนมีสมรรถนะที่สูงขึ้น โดยสร้างผู้เรียนให้มีความรู้ มีทักษะ มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีเจตคติที่ดีมีคุณธรรม เคารพผู้อื่น เสียสละ รับผิดชอบต่อส่วนรวม เพื่อก้าวสู่ความผาสุก”  

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย

ผู้อำนวยการ สสวท

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกทำให้การศึกษาต้องเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมของความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และเจตคติ (Attitude) เป็นสมรรถนะ (Competency) ที่แต่ละคนแสดงออกมา โดยที่แต่ละคนจะมีสิ่งเหล่านี้แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ ฝึกฝน และนำไปใช้ในการทำงานหรือการดำรงชีวิต นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทักษะทางด้านการใช้ข้อมูลดิจิทัล การแปลข้อมูลที่ซับซ้อน และความสามารถในการปรับตัว ทั้งนี้ เจตคติเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่สร้างคุณธรรม ความเคารพและเข้าใจผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม อันจะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างผาสุก จึงจำเป็นต้องมีการสร้างเสริมเจตคติที่ดีด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมคุณธรรมและการเคารพซึ่งกันและกัน

ดังนั้น เราต้องพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างคนให้มีความรู้ ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ มีทักษะ สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และมีเจตคติที่ดี มีคุณธรรม เคารพผู้อื่น เสียสละ รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อก้าวสู่ความผาสุก (Well-Being) ตามเป้าหมายของ OECD”

“คนที่มีสมรรถนะและอยู่รอดได้ในอนาคต คือ คนที่สามารถแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันและสามารถปรับตัวได้ในอนาคต โดยการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ฝึกฝนวิชาให้ถนัด เพื่อหลอมรวมสู่สมรรถนะ”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สมรรถนะเป็นการประกอบกันของทัศนคติ/อุปนิสัยหรือเจตคติ (Attitude) ทักษะ (Skill) และความรู้ (Knowledge) แล้วนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้งานจริง โดยควรเริ่มจากการมีทัศนคติและอุปนิสัยในการใฝ่หาความรู้ ความอดทน ความรับผิดชอบ ถ้ามีทัศนคติ (A) ที่ถูกต้องแล้ว การเรียนทั้งในและนอกโรงเรียนจะเป็นตัวช่วยเสริมสร้างทักษะ (S) ในการคิดเชิงวิพากษ์ ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมได้ แล้วนำความรู้ (K) ที่ได้มารวมกับทักษะที่มีและนำไปใช้ร่วมกับการมีทัศนคติที่ดี จึงจะถือว่ามีสมรรถนะที่จะสามารถแก้ปัญหาได้จริงและสามารถปรับตัวในอนาคตได้เป็นอย่างดีสำหรับการปรับตัวในอนาคตนั้น จำเป็นต้องมีจิตใจที่เปิดกว้างพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยอมรับความผิดพลาด มีจิตใจแห่งการเติบโต หรือ Growth Mindset มีทักษะในการคิดสร้างสรรค์ต่อยอด มองภาพการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวได้ตามโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และยังต้องมีความรู้และเข้าใจความเป็นไปของโลกและเทคโนโลยีที่พลิกผันตลอดเวลา

หัวใจของการศึกษาที่เน้นสมรรถนะ คือ การสร้าง “วัฒนธรรม” ที่เอื้อต่อสมรรถนะ ซึ่งตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมการศึกษาในปัจจุบัน ในขณะที่วัฒนธรรมในการทำงานเปรียบเสมือนวัฒนธรรมแห่งสมรรถนะ เพราะในการทำงานเราได้ความรู้มาจากการลงมือทำจริง ลองผิดลองถูก เน้นการทำงานเป็นทีมซึ่งเป็นเรื่องของการผสมผสานความสามารถ รวมทั้งเน้นทำงานอย่างมีความสุข ในขณะที่วัฒนธรรมการศึกษาเน้นความถูกต้อง ผิดไม่ได้ นิยมความเก่งแบบตัวคนเดียว ยิ่งผู้เรียนเรียนสูงขึ้น ยิ่งรู้เฉพาะด้าน และความรู้ที่ได้มาจากครูเท่านั้น  เพราะฉะนั้นแบบอย่างของการจัดการศึกษาในอนาคตเพื่อให้เชื่อมโยงกับการทำงานควรต้องเริ่มที่การปรับทัศนคติของผู้เรียนและผู้สอนก่อน โดยต้องมีองค์ประกอบของการเล่นควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่มากขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนมีความสนุกและมีความสุขในการเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจภายในให้ครูและนักเรียนได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน

“คนที่มีสมรรถนะและอยู่รอดได้ในอนาคต คือ คนที่สามารถแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันและสามารถปรับตัวได้ในอนาคต โดยการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ฝึกฝนวิชาให้ถนัด เพื่อหลอมรวมสู่สมรรถนะ”

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต

รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

สมรรถนะในแง่ของการทำงาน คือ คน ๆ นั้นสามารถทำงานได้หรือไม่ และทำงานได้ดีเพียงใด  นอกจากความรู้แล้ว ส่วนที่สำคัญ คือ ทักษะและคุณลักษณะของบุคคล โดยที่สมรรถนะต้องใช้เวลาในการสร้าง ใช้กระบวนการในการบ่มเพาะพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้น และต้องฝึกฝนดูแลให้เป็นอย่างดี 

ในโลกอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลง สมรรถนะที่เป็นที่ต้องการ คือ การรู้เชิงกว้าง สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต สามารถพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา คนที่สามารถประสานงาน ทำงาน สื่อสารผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และเป็นคนที่ทำงานบนดิจิทัล ซึ่งไม่ใช่เพียงการรู้จักและใช้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลเป็น แต่คือการทำงานที่สามารถใช้ประโยชน์และใช้ความได้เปรียบของเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ใช้ข้อมูลดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้น สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับอนาคตและการอยู่รอดได้ในอนาคต คือ สมรรถนะที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว พร้อมปรับเปลี่ยน หรือเรียกได้ว่าเป็นสมรรถนะที่พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง (Fluid Competencies) นั่นคือ มีความสามารถในการประสานติดต่อ
มีความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ความพร้อมในการปรับตัว ความสามารถในการลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเจอกับปัญหา

นอกจากนี้ ทักษะและสมรรถนะสำคัญที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือ การมีกรอบความคิดแบบเติบโตแบบพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset สามารถตื่นตัวต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่ยึดติดหรือมั่นใจกับความสำเร็จเดิม ๆ ต้องพร้อมปรับตัวให้ทันรับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงความฉลาดรู้ในการใช้ดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน การเรียนรู้จะนำไปสู่กลยุทธ์และวิธีการทำงานที่พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนต้องมีจริยธรรมในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานในโลกอนาคต

“คนที่มีสมรรถนะและอยู่รอดได้ในอนาคต คือ คนที่สามารถแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันและสามารถปรับตัวได้ในอนาคต โดยการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหา ฝึกฝนวิชาให้ถนัด เพื่อหลอมรวมสู่สมรรถนะ”

ผศ. ดร.อรรถพล อนันตวรสกุล

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในมิติของผู้เรียน การมีสมรรถนะในการเรียนรู้และการสืบค้นสิ่งใหม่ ๆ และสมรรถนะที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตและมีคุณภาพ ส่วนมิติของการเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการสื่อสาร สมรรถนะความเป็นผู้นำและทำงานร่วมกัน และสมรรถนะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล สำหรับมิติการเป็นพลเมืองโลกที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุขจำเป็นต้องมีสมรรถนะในการเป็นพลเมืองโลก สมรรถนะเชิงวัฒนธรรม และสมรรถนะการอยู่ร่วมในสังคมโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสมรรถนะที่พึงประสงค์สำหรับอนาคต หัวใจสำคัญ คือ สมรรถนะไม่สามารถมองแยกส่วนความรู้ ทักษะ และเจตคติออกจากกันได้ เนื่องจากทุกส่วนยึดโยงเข้าด้วยกันทั้งหมด โดยเรียนรู้ผ่านฐานประสบการณ์ เพราะเป็นสิ่งเหล่านี้เกื้อกูลกันและเกิดขึ้นได้พร้อมกัน สิ่งสำคัญ คือ การใช้ฐานประสบการณ์หลอมรวมความรู้ ทักษะ และเจคติเข้าด้วยกันและแสดงออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณลักษณะสำคัญที่มีส่วนช่วยส่งเสริมสมรรถนะที่ตอบโจทย์อนาคตได้ อาทิเช่น การเป็นคนที่ตื่นตัวรับความท้าทายเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือการมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้โดยง่าย ล้มแล้วลุกขึ้นได้เร็ว สามารถยืดหยุ่นปรับตัวได้ เข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ใฝ่เรียนรู้ และกำกับตนเองได้

นอกจากนี้ การออกแบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ผู้เรียนอนาคต คือ การออกแบบนิเวศการศึกษาไปพร้อม ๆ กับนิเวศการเรียนรู้และต้องสอดรับกัน โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบสนองต่อผู้เรียนที่มีความหลากหลายและความต้องการที่แตกต่างกัน  อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษา (ผู้เรียน ครู ระดับนโยบาย ครอบครัว) ครูเรียนรู้ไปพร้อมกับการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นไปอย่างธรรมชาติ พร้อมกับการจัดให้มีการเข้าถึงสารสนเทศควบคู่กับความต้องการเป็นรายบุคคลของผู้เรียน ผ่านการทำงานและลงมือปฏิบัติสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต

Infographic