สรุป PANEL DISCUSSION #4

ทิศทางการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในยุค 4.0

ดำเนินรายการ โดย คุณกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ

รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา

ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

รศ. ดร.ประวิต เอราวรรณ์

เลขาธิการ ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย

รองผู้อำนวยการ สสวท.

สรุปการบรรยาย

นพ.ธีเกียรติ เจริญเศรษฐสิลป์
ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ

“จากงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.นิดา สะเพียรชัย อดีตผู้อำนวยการ สสวท. ระบุว่า ผู้มีความสามารถพิเศษ คือ ผู้มีสติปัญญาดี มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์ มีทัศนคติเชิงวิทยาศาสตร์ และมีบุคลิกภาพของนักวิทยาศาสตร์ จึงได้พัฒนาเป็นโครงการ พสวท. โครงการโอลิมปิกวิชาการ และโครงการ สควค. และในอนาคตควรมีการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษให้สอดคล้องกันในทุกระดับอย่างเป็นระบบ”      

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย

รองผู้อำนวยการ สสวท

  • จากงานวิจัยเรื่องการเสาะแสวงหา พัฒนาและส่งเสริมปรีชาญาณทางวิทยาศาสตร์: คุณลักษณะปรีชาญาณทางวิทยาศาสตร์ (A Study of Scientific Talented Traits) ของรองศาสตราจารย์ ดร.นิดา สะเพียรชัย อดีตผู้อำนวยการ สสวท. พบว่าผู้มีความสามารถพิเศษมี 6 คุณลักษณะ คือ  

    1.  มีสติปัญญาดี
    2. มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สูง
    3.  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์
    4. มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์
    5. มีทัศนคติเชิงวิทยาศาสตร์ และ
    6. มีบุคลิกภาพของนักวิทยาศาสตร์

    จากงานวิจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาของโครงการ พสวท. ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินงานในปี พ.ศ. 2527 เพื่อผลิตนักวิทยาศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์ 3 ประการ คือ 1) ในวัยเรียนให้ได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเองให้สูงที่สุด 2) ในวัยทำงานให้ได้มีโอกาสใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ 3) ส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ และเอกชนมีบทบาทในการสร้างงานให้แก่ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์

    จากนั้น ในปี พ.ศ. 2532 ได้เริ่มดำเนินโครงการโอลิมปิกวิชาการ และมีการพัฒนาแนวข้อสอบระหว่างประเทศและตำรา สสวท. ตำราวิชาการมูลนิธิ สอวน. และโครงการศูนย์โรงเรียนขยายผล สอวน. โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ระหว่างมูลนิธิ สอวน. สสวท. และ สพฐ.

    ส่วนโครงการ สควค. เป็นโครงการผลิตครูที่เริ่มดำเนินงาน ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

    จากการดำเนินงานที่ผ่านมา บัณฑิตทุนจากโครงการต่าง ๆ ได้สร้างผลงานให้แก่ประเทศอย่างมากมาย และเพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษในอนาคตมีความชัดเจน สอดคล้องกันในทุกระดับอย่างเป็นระบบ สสวท. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ (พ.ศ. 2564 – 2580) ขึ้น โดยอยู่ระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

นพ.ธีเกียรติ เจริญเศรษฐสิลป์
ประธานคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ

 “ผู้มีความสามารถพิเศษนับเป็นพลังสมองที่เราจะพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก จึงควรกำหนดปลายทางให้ชัด ให้ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ สร้างแรงจูงใจตลอดช่วงการศึกษาและทำงาน สร้างเส้นทางอาชีพให้สูงสุดในสายวิจัย ให้ได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์เพิ่มขึ้น และทบทวนกระบวนการคัดเลือกให้ครอบคลุมเด็กทุกคนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม”

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ

รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้มีความสามารถพิเศษนับเป็นพลังสมอง (Brain power) เป็นทุนมนุษย์ (Human capital) ที่เราจะพัฒนาให้มีคุณภาพและมาตรฐานระดับโลก ดังนั้น ในกระบวนการดำเนินงานต้องกำหนดเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจนเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ เมื่อกลับมาจะสามารถใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และควรหาวิธีสร้างแรงจูงใจ (Motivation) เพิ่มมูลค่าในแต่ละช่วงเวลาตลอดระยะเวลาการศึกษาและการทำงาน รวมถึงติดตามประเมินระหว่างการศึกษา โดยให้มีความยืดหยุ่นตามโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะการให้ไปเรียนเพื่อกลับมาทำงานในอีก 10 ปี ข้างหน้า อาจไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนไป การเรียนที่มุ่งเพียงวิทยาศาสตร์บริสุทธ์ (Pure science) หรือการเรียนระดับปริญญาตรี โท เอก ต่อเนื่อง อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับอนาคต นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนความคิดที่ว่า ผู้รับทุนเป็นหนี้รัฐบาล ต้องกลับมาชดใช้ทุน การให้ปฏิบัติงานอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบริหาร ไม่เข้าไปในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้ใช้ศักยภาพในการทำงานได้โดยไม่มีข้อจำกัด ควรสร้างเส้นทางอาชีพให้ไปได้สูงสุดในสายนักวิจัย โดยได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อมิให้บุคคลเหล่านี้ต้องเปลี่ยนสายเป็นสายบริหาร สุดท้ายในกระบวนการคัดเลือกต้องพิจารณาถึงความหลากหลายให้ครอบคลุมเด็กทุกคน ทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม

ดร.พรชัย อินทร์ฉาย

“โลกหลังโควิด Post COVID จะทำให้นิเวศวิทยาทางการศึกษาเปลี่ยนไป ทั้งเรื่องหลักสูตร การสอน รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และเรียนที่บ้านมากขึ้น การพัฒนาครูเพื่อไปสอนเด็กเหล่านี้ ต้องให้มีความรู้เนื้อหาผสานวิธีสอน (Pedagogical Content Knowledge) รวมถึง Soft Skills ที่จะสามารถไปถ่ายทอดและเหมาะสมกับสภาพที่เปลี่ยนไป”

รศ. ดร.ประวิต เอราวรรณ์

เลขาธิการ ก.ค.ศ. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

การพัฒนาครูเพื่อไปสอนเด็กให้มีความสามารถสูงขึ้น จะทำให้บรรลุผลสำเร็จได้จริงได้อย่างไร โดยเฉพาะในอนาคตจะยิ่งยาก เพราะหลังโควิด (Post COVID) นิเวศวิทยาทางการศึกษา (Ecosystem) จะเปลี่ยนไปอย่างมาก อย่างน้อยในเรื่องใหญ่ ๆ 3 เรื่อง คือ

1) เรื่องการเรียนการสอน การออกแบบหลักสูตร (Curriculum design) และการสอน (Instruction) จะเปลี่ยนจากเดิมที่สอนเพื่อให้ไปเป็นครูโดยเน้นการสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปสู่เด็กนักเรียนทั้งห้องที่เรียกว่า one set to all students จะกลายเป็นการสอนที่เฉพาะกับเด็กแต่ละคน (Tailor made) เพราะภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning loss) มีมาก เด็กแต่ละคนเริ่มต้นไม่เท่ากัน

2) การเรียนการสอนแบบเดิมที่เป็นการเรียนการสอนในห้อง (Literal classroom) จะเปลี่ยนเป็นการเรียนที่อยู่ในห้องเรียนเสมือน (Virtual classroom) หรือเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning module) มากขึ้น ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้ต้องการแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital learning platform) มากขึ้น

3) ด้านสถานศึกษา (Education setting) จะเปลี่ยนจากการเรียนที่โรงเรียน (School based) เป็นการเรียนที่บ้าน (Home based) มากขึ้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้ปกครองมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีครูที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ แล้วหาวิธีที่จะเข้ามาสนับสนุนในการจัดการเรียนรู้ในอนาคตที่หลากหลายและเข้าถึงมากขึ้น 

ดังนั้น นอกเหนือจากความต้องการคนที่มีความสามารถสูงเข้ามาเป็นครูที่เก่งเรื่องเนื้อหาวิชาแล้ว จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความสามารถสูงอีกกลุ่มที่จะขึ้นมาทำงานช่วยให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ ๆ หรือเข้ามาทำงานควบคู่ไปกับผู้ที่อยู่ในด้านการศึกษา เพื่อจะทำให้การเรียนรู้ของเด็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะโลกยุคใหม่เป็นทฤษฎีโลกสองใบ หนึ่งคือโลกกายภาพ (Physical Word) และสองคือโลกเสมือน (Virtual World) และเด็กที่เติบโตในช่วงโควิด จะอยู่ในโลกเสมือนมากกว่า ทั้งเรื่องสภาพแวดล้อม ประสบการณ์ ความคุ้นเคย จำนวนชั่วโมงที่ใช้แต่ละวัน เพราะฉะนั้นจึงต้องการคนที่มีความสามารถหรือคนที่เข้ามาทำงานเพื่อให้การขับเคลื่อนในเรื่องการศึกษาไปได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ดังนั้นในมิติของการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษมาเป็นครู มองว่าในอนาคตไม่ใช่เก่งเรื่ององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องเก่งในเชิงของการที่จะทำให้กระบวนการที่เรียกว่า ความรู้เนื้อหาผสานวิธีสอน (Pedagogical Content Knowledge) สามารถไปถ่ายทอดและเหมาะสมกับสภาพที่เปลี่ยนไปจริง ๆ

นอกจากนี้ หากจะขับเคลื่อนสังคม หรือขับเคลื่อนประเทศโดยอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงเป็นเหมือนหัวรถจักร หรือเป็นเหมือนกลไกหลัก ประเด็นแรกในเรื่องของการผลิตคนที่มีความสามารถสูงไปสู่ระบบการทำงาน จำเป็นต้องมองเรื่องของโปรแกรมเสริม (Enrichment Program) โดยเฉพาะเรื่อง Soft Skills ที่เกี่ยวข้องกับการมีมุมมองเชิงสังคม หรือเชิงอุดมคติในการทำงานพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้ไปสู่สังคมที่ดีขึ้น หรือทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่มากขึ้น เห็นหลาย ๆ ประเทศที่พยายามเติมเรื่องเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น เวียดนาม ก็เน้นเรื่องของการที่คนที่จะเข้ามาได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐที่ต้องเติมเรื่องอุดมคติในทางสังคมเข้าไปด้วย หรือแม้แต่เกาหลีใต้ การผลิตคนรุ่นใหม่ของเขา นอกเหนือจากประเด็นในเชิงวิชาการที่จะพัฒนาเขาแล้ว ยังจำเป็นต้องพูดถึงความเป็นอุดมคติของชาติหรือความที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาจะต้องมีต่อความเจริญเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของโครงการครู สควค. ที่เรียนในสายวิทยาศาสตร์ 4 ปี ก็จะเรียนหนัก 4 ปี แล้วมาเติมวิชาชีพครู ซึ่งเวลาที่จะเติมความเป็นครูที่เข้มข้นไม่พอ จำเป็นต้องออกแบบร่วมกันตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เข้ามาปีที่ 1 วิชาการต้องเข้มข้นเต็มที่ ขณะเดียวกันถ้าจะมาเป็นครู จำเป็นต้องเติมเรื่องอื่น ๆ เข้าไปแต่ต้น เช่น ประเทศ Estonia ไปได้เร็วมาก เป็นดาวรุ่งของยุโรปในการปฏิรูปการศึกษา จุดเด่นของเขาคือการปรับเปลี่ยนเรื่องระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านดิจิทัล ใช้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นตัวขับเคลื่อนทางสังคมทั้งหมด ทั้งการดำรงชีวิต หรือภาครัฐ ตรงนี้เป็นการสร้างระบบนิเวศให้กับสังคมเพื่อให้เห็นความจำเป็นและการที่จะเข้ามาคุ้นเคยหรือสิ่งที่จะทำให้ประชาชนทั้งหมดเห็นความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ประเทศไทยยังไม่เต็มที่กับการสร้างระบบนิเวศ ยังเป็นจุด ๆ แล้วบางเรื่องเป็นผู้เสพมากกว่าเป็นผู้สร้าง ประเด็นตรงนี้ งาน สสวท. อาจจะขยับขยาย นอกเหนือจากการสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถพิเศษ อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างระบบนิเวศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการขยายขอบเขตเรื่องนี้ออกไป เพราะไม่เช่นนั้นจะเหมือนว่ายังไม่สามารถที่จะทำให้คนที่เป็นประชาชนของเราทุกภาคส่วนมองเห็นเรื่องนี้พร้อม ๆ กัน และให้ความสำคัญและขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กันได้

“บัณฑิต พสวท. คือ หัวรถจักร ควรหาแนวทางในการยกระดับการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นกว่าแนวทางที่ทำในปัจจุบัน และต้องให้อิสระในการเรียน เน้น Frontier Science ทบทวนการผลิตที่เน้นทำน้อยใช้เวลานาน แต่เป็นหัวรถจักรของขบวนรถไฟที่สำคัญ รวมถึงหาทางให้ สควค. เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม”

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา

ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นับจากปีแรกที่บัณฑิต พสวท. รุ่นแรกกลับมาในปี พ.ศ. 2533 ทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของสถาบันหลาย ๆ แห่ง เช่น สวทช. หรือมหาวิทยาลัยที่เกิดใหม่ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หรือแม้กระทั่งการพัฒนาของคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหลัก ๆ ที่มีอายุมาก เพราะว่าอาจารย์รุ่นเก่า ๆ เกษียณไป บัณฑิต พสวท. ก็เข้าไปแทนที่เกือบทั้งหมด แล้วก็เป็นกำลังสำคัญในการสอนมาถึงปัจจุบัน บัณฑิต พสวท. หลายคน มีผลงานระดับโลก (World class) รวมถึง ผอ. สสวท. คนปัจจุบันด้วย แต่ว่าทำอย่างไรจึงจะมีแบบนี้เพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะให้เกิดแบบตามมีตามเกิด เพราะหากวิเคราะห์จริง ๆ สัดส่วนที่เป็น World class ถ้าเทียบกับบัณฑิตที่จบมามีกี่เปอร์เซ็นต์ จริง ๆ แล้วตอนเริ่มต้นที่เข้าไปในกระบวนการของการรับ การบ่มเพาะ จนกลายเป็นบัณฑิต เกือบทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็น World class ได้หมดอย่างน้อย ๆ 80% แต่สุดท้ายเหลือถึง 10% หรือไม่ เรื่องนี้เป็นอีกกระบวนการหนึ่งซึ่งไม่ใช่ปัญหาของ สสวท. อย่างเดียว เป็นปัญหาของระบบของประเทศไทยอย่างที่อาจารย์สัมพันธ์กล่าว เพราะภาครัฐมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้นกระบวนการตรงนี้ต้องมาช่วยกันดูว่าที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุน พสวท มีปัญหาอยู่บ้าง เช่น การที่บัณฑิตจบมาไม่สามารถไปบรรจุในหน่วยงานภาครัฐเนื่องจากการขาดแคลนตำแหน่ง พยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการให้สามารถทำงานในภาคเอกชนได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีอีกสิ่ง แต่ที่อยากเสริม คือ สาขาที่ให้ไปเรียน ควรเสริมกันหรือไม่ให้ไปซ้ำซ้อนกับทุนอื่น ๆ เช่น ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์หรือปัจจุบันคือทุนกระทรวง อว. ทุนเหล่านั้นมีการกำหนดสาขาที่จะไปเรียน และหน่วยงานที่จะกลับมาบรรจุ ซึ่งหลาย ๆ คน มองว่าเป็นข้อดี แต่ก็เป็นปัญหามากพอสมควร เพราะมีการกำหนดสาขาให้ไปเรียนแล้วกลับมาทำงานในหน่วยงานตามความต้องการ หลัก ๆ ก็คือ สถาบันวิจัยที่เกิดใหม่ เช่น สวทช. หรือของมหาวิทยาลัย สิ่งที่ชัดเจนและดีก็พบว่ามีปัญหามากที่เด็ก ๆ ถูกกำหนดให้ไปเรียนในสาขาวิชาที่ในต่างประเทศเขาไม่เรียนกันแล้ว เช่น สิ่งทอ หรือเทคโนโลยียาง พสวท. ไม่มีการกำหนดว่าจะไปเรียนอะไร มีแต่การกำหนดในกรอบกว้าง ๆ เป็น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา อันนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะสามารถเลือกเรียนตามที่ตัวเองมีความถนัดและจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพได้สูงสุดตามที่ถนัดจริง ๆ แต่ที่ต้องไปจัดการคือเมื่อจบกลับมาแล้วจะให้ทำอะไร ถ้ามาดูปัจจุบันคิดว่ายิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุน พสวท. จะต้องหันมาสนใจหรืออย่าไปจำกัดสาขาที่ให้เรียน ปล่อยเหมือนเดิมดีแล้ว และต้องให้อิสระมากขึ้น และต้องพยายามสนับสนุนให้ไปทางด้านวิทยาศาสตร์แนวหน้า (Frontier Science) ให้มากขึ้น เพราะจะเป็นสิ่งที่จะส่งเสริมความสามารถของคนไทยมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะนักวิจัยหรือบัณฑิตเท่านั้น แต่งานทางด้าน Frontier ยังนำมาซึ่งความสามารถของคนในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะว่าเครื่องมือเหล่านั้นไม่มีอยู่ เช่น การทำสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยขึ้นมาเอง ซึ่งเป็น Deep tech หรือ Ultra deep tech ดังนั้นการจับงานด้าน Frontier ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และ พสวท. คือกลุ่มคนที่ต้องไปทำด้าน Frontier science ในเรื่องของการหาหน่วยงาน พสวท. เป็นกลุ่มคนที่ต้องเป็นหัวรถจักร ไม่ใช่ Main worker ดังนั้น การที่จะเป็นหัวรถจักร ต้องดูแลให้ดีเรื่องจำนวน ปัจจุบันมากเกินไปหรือไม่ ต้องกลับมาวิเคราะห์ว่าควรทำปีละกี่คน แม้ต้องใช้เวลานานมาก แต่บางทีทำมากไปไม่ได้หมายว่าดีที่สุด ทำน้อยใช้เวลานาน แต่เป็นหัวรถจักรของขบวนรถไฟที่สำคัญ คิดว่าดีกว่ามีจำนวนมาก ๆ แล้วกลายเป็นโบกี้หนึ่ง นอกจากนี้ ข้อสังเกต ครู สควค. มีศักยภาพสูง มีจิตเป็นครูที่ต้องการให้เด็กได้รับการพัฒนาศักภาพอย่างสูงสุดจริง ๆ ควรทำต่อไป โดยหาทางให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นบุคคลที่จะไปต่อยอดและทำให้เยาวชนของเราถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างถูกต้อง

“ปัจจุบันทิศทางโลกเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ควรปรับเปลี่ยนเป็นการให้ทุนระยะสั้น ส่งเสริมให้มีการเรียนข้ามศาสตร์ ในหลักสูตรสองปริญญา ขยายเงื่อนไขให้บริษัท SME หรือ Start up เป็นแหล่งทำงานชดใช้ทุน และมีการ reskill หรือสนับสนุนเงินวิจัยให้กับบัณฑิต เพื่อให้ตามทันองค์ความรู้ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

นายกิตติศักดิ์ กวีกิจมณี

รองผู้อำนวยการ, Business Risk and Macro Research, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ในปัจจุบัน โลกมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าบริบทเปลี่ยนในหลาย ๆ ประเด็น เด็กผู้มีความสามารถพิเศษสมัยนี้อาจจะมีโอกาสในการเข้าถึงความรู้หรือว่าโอกาสในการพัฒนาตัวเองที่เยอะกว่าในสมัยก่อน ทำให้การพัฒนาเด็กกลุ่มนี้ หากเรามีเงื่อนไขที่จำกัดมากก็อาจจะไม่ได้เป็นการจูงใจให้เด็กกลุ่มนี้ได้เข้าสู่เส้นทางที่เป็นมาตรการที่เราอยากจะส่งเสริม และความรู้มีลักษณะที่เปลี่ยนไปเร็วมาก และเป็นแบบข้ามศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสมผสานกับเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ชีววิทยา ก็ผนวกกับเรื่องข้อมูล กลายเป็นชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) ดังนั้นเรื่องของการผลิตคนก็จะต้องคำนึงถึงสาขาที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากแนวคิดของตนเองผนวกกับแนวคิดที่วิทยากรทุกท่าน คิดว่าแนวคิดของการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ จะต้องมีมิติที่เปลี่ยนไปใน 3 ด้าน

  1. ด้านวิธีการ
    หลักการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ของคนผู้มีความสามารถพิเศษ หรือจริง ๆ การพัฒนากำลังคนทั่ว ๆ ไป มีหลักการของสร้าง ซื้อ และยืม (Built Buy and Borrow) ที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องการสร้างเยอะ โดยใช้วิธีการส่งไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลานาน ในขณะที่องค์ความรู้และเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นโยบายการพัฒนาประเทศก็จะต้องมีการเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้น อาจจะต้องมีการพิจารณากลยุทธ์ที่จะใช้ในการสร้างคนใหม่ว่า จะมีวิธีใดที่จะสร้างคนให้ตามทันความรู้และนโยบายที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น อาจจะเป็นการให้ทุนหลังปริญญาเอก (Postdoctoral) ที่ใช้ระยะเวลาที่สั้นลง 1-2 ปี ก็สามารถที่จะสร้างคนได้ หรือเน้นการให้ทุนที่เป็นปริญญาเอกอย่างเดียว หรือปริญญาโทอย่างเดียว เรื่องการช้อนซื้ออาจจะมีการช้อนซื้อตัวคนที่กำลังเรียนปริญญาเอกใกล้จบในสาขาที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แทนการลงทุนผลิตเองในระยะยาว สำหรับวิธีการยืมตัว Borrow เป็นสิ่งที่เริ่มทำกันมาพอสมควร เช่น โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent mobility) เคลื่อนย้ายจากรัฐมาเอกชน หรือย้ายจากเอกชนมารัฐ เอาคนที่มีความเชี่ยวชาญในภาคปฏิบัติ มาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับสถาบันอุดมศึกษาก็ได้ หรือแม้แต่การ Cross broader mobility ดึงจากต่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ หลักคิดของวิธีการ เห็นด้วยกับอาจารยฺสัมพันธ์ ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมสำคัญมาก ไม่อยากเห็นการพัฒนากระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมสูงอยู่แล้ว เพราะยังมีช้างเผือกที่อยู่ตามที่ต่าง ๆ อีกมากมาย ดังนั้น อาจเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคต เช่น โอลิมปิกวิชาการ หรือค่ายต่าง ๆ อาจมีการจัดสรรโควตาตามพื้นที่ในช่วงแรก ๆ และเมื่อถึงรอบสุดท้ายอาจจะกลับเข้าสู่การแข่งขันกัน และที่สำคัญสร้างมาแล้วจะใช้ประโยชน์อย่างไร 
  2. ด้านเนื้อหา
    สิ่งที่จะสนับสนุนต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก เช่น ปัจจุบันเรื่อง Green economy หลายประเทศตั้งเป้าลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ซึ่ง UN ประมาณการไว้หากเป็น Green economy และมีการใช้พลังงานทดแทนอย่างเต็มที่จะนำมาสู่การจ้างงานในอีกแบบที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งร้อยล้านตำแหน่ง ภายในปี 2050 หรือกระแสเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต่าง ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้ง AI Quantum IOT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่หากสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ความเร็วในการปรับตัวเพื่อที่จะดึงเอาเทคโนโลยีกลุ่มนี้มาใช้ประโยชน์ก็เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ และถ้าเรามีคนที่มีความสามารถ มีองค์ความรู้ที่จะจับเอาเทคโนโลยีกลุ่มเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ ก็จะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้ในระยะยาว เรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นจุดแข็งของ พสวท. ที่ต้องการจะส่งเสริมการสร้างคนในสาขาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ และประเด็นนี้เห็นด้วยกับอาจารย์ศรันย์ ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่อไป แต่ควรเปิดเป็นทางเลือกให้เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ควบคู่ไปกับศาสตร์อื่น เช่น อาจเรียนเคมีคู่กับสาขาการทำธุรกิจ เพื่อให้เห็นมุมมองด้านการพัฒนานวัตกรรม หรือเรียนหลักสูตรร่วมปริญญาข้ามสถาบัน (Joint Degree Program) หลักสูตรสองปริญญาข้ามสถาบัน (Double Degree Program)
  3. เงื่อนไข
    พสวท. เป็นผู้นำเจ้าแรก ๆ ในการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้กับบัณฑิตที่ให้ไปทำงานกับเอกชน กับรัฐวิสาหกิจได้ โดยมีเงื่อนไขบางประการ ทั้งนี้ ในอนาคตจะเปิดกว้างได้มากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดคนเก่งได้มากขึ้น เช่น เปิดให้บริษัทผู้ประกอบการรายย่อย SME หรือ Start up เป็นแหล่งชดใช้ทุนได้ โดยลดสัดส่วน in kind หรือ in cash สำหรับบริษัทเหล่านี้ หรือเปิดให้มีการทำงานข้ามพรมแดน เนื่องจากกระแสที่เปลี่ยนไปคนทำงานจากที่ไหนก็ได้มากขึ้น ดังนโยบายของต่างประเทศที่โปรโมตเรื่องของการทำงานข้ามพรมแดน เช่น e-residency ของ Estonia และการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกรณีมีการปรับรูปแบบการให้ทุนแบบ multi stage life และ lifelong learning ว่าในอนาคต การเรียนต่อเนื่องแบบตรี โท เอก ก็อาจจะถูกเปลี่ยนไป อาจจะมีการเรียนจบตรีแล้วทำงานก่อนเพื่อหาประสบการณ์แล้วกลับมาเรียนโท เรียนโทจบหาประสบการณ์แล้วเรียนต่อเอก ซึ่งเงื่อนไขของการนับเวลาใช้ทุนก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไป และถ้าพูดถึง Lifelong learning การพยายามจะ reskill คนกลุ่มนี้ อยู่เรื่อย ๆ ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ อาจจะเป็น fellowship ระยะสั้น ๆ ในอนาคตก็น่าจะเป็นตัวที่มาทำให้ skill ของคนกลุ่มนี้ ตามทันองค์ความรู้ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต

Infographic